สนทนารับฟัง ความเข้มแข็งของผู้นำชาวบ้านเผ่าม้ง
วานนี้ คณะของพวกเราที่มาจากหลากหลายกลุ่ม โดยการนำของ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นำโดย ดร.บัณทูร เศรษฐศิโรฒน์ พากันออกเดินทางขึ้นเขาไปที่ระดับ 1,200 เมตร เหนือระดับทะเลปานกลางในเขตอุทยานดอยสุเทพ-ปุย เพื่อตั้งวงสนทนารับฟัง ความเข้มแข็งของผู้นำชาวบ้านเผ่าม้ง ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ตามม.64 กฏหมายอุทยานฯ ที่มีการพลิกวิธีต่อสู้ป้องกันไฟป่าที่เกิดโดยมนุษย์ จนสามารถควบคุมลดปริมาณการลามไม่ให้ไฟเข้าพื้นที่ ตลอดทั้งสามารถสกัดไม่ให้มีไฟเกิดในพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างน่าสนใจ
ด้วยการร่วมกับม้งอีก 13 หมู่บ้านย่านใกล้เคียง ฟื้นฟูตาน้ำในป่าเขาจากยุคเขาหัวโล้น ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จนกลับมามีแนวป่าที่ทดลองผสมผสานด้วยการนำเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น 30 ชนิดมากระจายลงปลูกเป็นหย่อม การคัดพืชหลายๆชนิดทำร่วมกับทีมวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนสามารถผ่านประสบการณ์ด้านการเพาะกล้า นำลงปลูกและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้ป่า จนมีพืชยืนต้นกลับเข้ามาปรากฏเกือบ 100 สายพันธุ์ในพื้นที่ด้วยผลจากการปลูกเชื่อมผืนป่าให้สัตว์ป่าเดินทางเชื่อมไปมาระหว่างป่าดอยปุยกับป่าดอยสุเทพได้ ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ติดมากับนกและมูลสัตว์งอกเพิ่มและผสมผสานกันเป็นนิเวศป่า มีการจัดเวรยามชาวบ้านเฝ้าทางเข้าออกของป่าตามเส้นทางสำคัญในฤดูไฟ มีวิทยุรับส่งข้อมูลกันเพื่อแจ้งเหตุเฝ้าระวัง และมีกติกาปญิญาชุมชน ที่ตกลงกันว่าจะไม่มีการขยายแปลงเกษตร และไม่ให้มีการขยายสมาชิกตามเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้าน ยกเว้นกรณีเพิ่มขึ้นจากการเกิด หรือการแต่งงานเท่านั้น
ความสามารถฟื้นฟูป่า ที่สามารถวัดผลได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นี้ กำลังจะถูกพัฒนาต่อด้วยการใช้ remote sensing ตรวจวัดติดตามใกล้ชิดมากขึ้นและจะนำไปสู่การสามารถรับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชนหรือประชาสังคมที่เข้มแข็งและเห็นพ้องกับหลักการ Payment for Ecosystems Services (PES) หรือหลักผู้ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศช่วยอุดหนุนแก่ผู้ที่ช่วยฟื้นฟูรักษาระบบนิเวศ ซึ่งเราชาวเมืองเองต่างก็ได้ประโยชน์ทุกคนทั้งจากอากาศสะอาด ป่าต้นน้ำฟื้นตัว หน้าดินไม่ทะลายลงมาจากที่สูง และเป็นที่กักเก็บคาร์บอนลดโลกร้อน รวมถึงเป็นพื้นที่สงวนและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศ ที่บ้านแม่สาน้อย ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่
ในโอกาสนี้ท่านอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ท่านชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสสส.ร่วมคณะมาด้วย สนใจนำวิธีการนี้ลงใต้ไปช่วยเสริมให้ชาวอูรักลาโว้ยในเขตป่าชายเลนได้ศึกษาปรับใช้วิธีทำนอง้ดียวกันนี้ คือการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมาช่วยให้ชุมชนชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรมมีบทบาทนี้ร่วมกับภาควิชาการวิทยาศาสตร์ระบบนิเวศร่วมกันอย่างมีขั้นตอน มีเป้าหมายร่วมกับภาคประชาสังคมและรัฐได้แม่นยำขึ้นด้วย
..............................
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ประธานคณะกรรมการแผนงานวิจัยมุ่งเป้า ลดปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ8จังหวัด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ