ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

แมงดาทะเล : สัตว์ผู้ไถ่บาป

 

โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ในช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติระหว่างเทศกาลปีใหม่ ที่ไทยเจอโควิดระรอกใหม่ อันเนื่องมาจากกลุ่มกิจกรรมใต้ดินทั้งบ่อนและการลักลอบข้ามชายแดนนั้น
 


ผมในฐานะที่สนใจงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้มีเวลาขุดคุ้ยและค้นคว้าเรื่อง ''แมงดา'' มาเล่าสู่กันฟังครับ

แมงดาทะเลนะครับ อย่าเพิ่งตกใจ แมงดาที่เราคนไทยเห็นอยู่ในเมนูร้านอาหารทะเลนั่นแหละ ฝรั่งเรียกว่า Horseshoe crab คงเพราะมองว่ามันตัวโค้งๆแข็ง ๆ เหมือนเกือกม้า

ลูกค้าที่สั่งมาเปิปต้องให้แน่ใจว่าได้กินแมงดาจาน ไม่ใช่แมงดาถ้วยที่มีพิษร้ายแรงถึงตาย (ซึ่งจุดแตกต่างสำคัญคือดูที่หางของมัน ว่าหางแมงดาตัวนั้นเป็นแท่งก้านทรงกลมหรือเป็นสามเหลี่ยม ถ้ากลมก็คือชนิดมีพิษร้ายแรง) แต่ที่ตลาดคนชั้นกลางของไทยกินๆกันมักจะกินไข่แมงดาทะเลมากกว่า เช่นเอาไข่แมงดาทะเลมายำ ซึ่งว่ากันไป ไข่มันก็อาจมีพิษเหมือนกัน แต่พิษเบากว่าเนื้อแมงดาทะเล


ยำไข่แมงดา ส่วนใหญ่จานนึงไม่ค่อยเกิน500บาท

แต่เชื่อหรือไม่ว่าเลือดแมงดาทะเลที่สหรัฐอเมริกา ราคาแกลลอนละประมาณหนึ่งล้านกับแปดแสนบาท!!  คือ 6 หมื่นเหรียญดอลลาร์ครับพี่น้อง!! ตกลิตรละ 4 แสนกว่าบาท...!!!

เป็นเลือดจากสัตว์ที่แพงที่สุดในโลก ก็ว่าได้ แต่ไม่ได้เอาไปกินหรอกนะครับ เพราะเค้าใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทดสอบวัคซีนต่างหาก

ก่อนหน้านั้น มนุษย์เราเคยมองแมงดาทะเลเปลือกแข็งหน้าตาพิลึกพิลั่นเหล่านี้เป็นได้เพียงสัตว์ไร้ประโยชน์ที่เอามาทำให้สุกแล้วบดเป็นผงเพื่อนำไปเติมเป็นแคลเซียมในหัวอาหารสัตว์!! หรือทำปุ๋ยไปซะงั้น

ญาติที่ใกล้ชิดกับแมงดาทะเลคือพวกแมงป่องและพวกแมงมุม ขาของพวกมันจึงมีทั้งตามอง และจมูกดมกลิ่นได้ มีหางที่จับทิศของแสงได้ ฟังๆไปแล้วคล้ายตัวประหลาดในเทพนิยายกรีกยังไงยังงั้น

แถมแมงดาทะเลมันมีหัวใจที่ยาวเท่าๆกับตัวของมัน มันกินอาหารผ่านปากแล้วส่งไปที่สมองก่อนจะไปต่อที่กะเพาะ... แต่อย่าถามผมนะว่าทำไม เพราะอันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน !!

ส่วนไคลแมกซ์ของเรื่องนี้คือแมงดาทะเลเป็นสัตว์ไม่มากชนิดในโลกที่มีเลือดสีน้ำเงินขุ่น (Hemocyanin)

และเจ้าเลือดสีน้ำเงินขุ่นนี้เอง ที่ต้องใช้กับวัคซีนมนุษย์ ไม่ว่าวัคซีนนั้นจะผลิตจากอะไร ผสมสูตรไหน หากแต่ว่าก่อนที่จะถูกรับรองให้ใช้ในมนุษย์ได้ วัคซีนนั้นจะต้องถูกนำไปผ่านการหยดสารโปรตีนที่สกัดออกมาจากเลือดของแมงดาใส่เสียก่อน เรียกว่า LAL (Limulus Amoebocyte Lysate)

หยดลงไปเพื่อตรวจดูว่าสารสกัดนี้แสดงปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรหรือไม่

ถ้าสารนั้นตอบสนองล่ะก็ วัคซีนที่ว่านั้น ยังไงๆก็จะใช้ฉีดให้คนยังไม่ได้ เพราะแปลว่ายังมีการปนเปื้อนหรือยังมีส่วนประกอบที่อาจไม่เป็นที่ยอมรับในร่างกายตามระบบภูมิคุ้มกันในธรรมชาติของมนุษย์

เลือดแมงดาทะเลถูกพบว่ามีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยบังเอิญ เพราะฝรั่งนักวิจัยคนหนึ่งเดินชายหาดในอเมริกา แล้วเห็นซากแมงดาทะเลนอนตายหงายผลึ่งอยู่ แกหยิบมาส่องดูก็พบว่าเลือดสีฟ้าของแมงดากลายเป็นวุ้นแข็งๆ จึงสนใจเอาไปศึกษา

ทำให้พบว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้ มีเลือดที่มีส่วนผสมของทองแดงอยู่มาก และเม็ดเลือดขาวในเลือดสีน้ำเงินขุ่นนี้ จะมีปฏิกิริยารวดเร็วมากในการล้อมจับแบคทีเรียและสารพิษใดๆที่ล่วงล้ำเข้าไปในร่างของแมงดาทะเล เพื่อทำให้เชื้อโรคและสารพิษที่เป็นผู้รุกรานเคลื่อนไปในร่างกายของมันต่อไม่ได้ คือขังไว้เสียเลย

และนี่เองที่เป็นกุญแจไขปริศนาว่า ทำไมแมงดาทะเลจึงอยู่รอดในทะเลมาได้ยาวนานกว่า400ล้านปี ทั้งที่ในทะเลและชายฝั่งของโลกยุคโบราณมีเชื้อโรคสารพัดแบบ แต่ก็ทำอะไรแมงดาทะเลเหล่านี้ไม่ได้ แมงดาทะเลเคลื่อนที่ช้า แถมมีแหล่งอาศัยอยู่ตามชายทะเลตื้นๆ มันอยู่ตามพื้นทราย อยู่บนพื้นเลนซึ่งหาตัวเจอได้ไม่ยาก มันไม่เป็นศัตรูทางธรรมชาติของสัตว์ใดๆ เพราะมันกินได้แค่สาหร่าย กุ้งปูขนาดเล็กๆตามชายฝั่ง แต่มันมีผู้คุกคามตามธรรมชาติที่พร้อมจะกินไข่แมงดาอันโอชะ ทั้งโดยนกทะเล และสัตว์ทะเลต่างๆ ส่วนลูกแมงดาที่กว่าจะโตเต็มวัยจะถูกปลาใหญ่ๆ เต่าทะเล รวมทั้งคนเรานี่แหละ จับกิน ตัวเมียที่จะวางไข่ได้แค่คราวละหลักร้อยฟอง มักต้องรอจนตัวเมียอายุถึง10ปีขึ้นไป แถมอัตรารอดจนโตไปได้ก็แค่3%

ฟังดูแล้วเหนื่อยใจ เพราะจากรูปทรง ความเร็วในการเคลื่อนไหว ความนานในการโตเต็มวัยเพื่อสืบพันธุ์ช้าขนาดนี้ แมงดาทะเลน่าจะดับสูญไปนานแล้ว

แต่แปลว่าแมงดาทะเลเป็นผลงานชิ้นเอกอีกอย่างทางธรรมชาติวิทยา มันอยู่กันมาก่อนจะมีไดโนเสาร์ เพราะพบฟอสซิลของบรรพบุรุษของแมงดาทะเลมากมายมาก่อนและนับเป็นฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งเสียด้วย อนึ่งแมงดาทะเลมีชีวิตรอดอยู่ต่อมาจนไดโนเสาร์สูญพันธ์ไป แปลว่าในวันที่เกิดเหตุล้างบางสิ่งมีชีวิตบนโลก ผ่านยุคน้ำแข็งปกคลุมจนหมด เกิดภูเขาไฟพ่นลาวา เกิดฝนกรด เกิดน้ำท่วมใหญ่ เกิดฝุ่นในชั้นบรรยากาศจนแสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ได้เป็นเวลานานๆ แต่แมงดาทะเลก็อยู่รอดมาได้โดยไม่เปลี่ยนหน้าตาไปสักเท่าไหร่

แถมมีแนวโน้มว่ามันก็จะยังอยู่ต่อไปได้อีกนาน ถ้ามนุษย์ไม่เอามันมาทำอันตรายจนมันเกิดใหม่ไม่ทันนะ

เพราะเคล็ดลับเรื่องเลือดของมันสามารถตรวจจับสิ่งแปลกปลอมระดับเบาบางที่สุดได้อย่างแม่นยำนี่เอง ที่เป็นคำตอบ

แมงดาทะเลในโลกนี้มี 3 สายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมใช้เลือดไปทำประโยชน์ทางการแพทย์เวลานี้ ยังจำเพาะถูกอ้างถึงอยู่แต่กับพันธุ์แอตแลนติกที่อาศัยอยู่ที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ตั้งแต่รัฐเมนลงมาจนถึงรัฐเดลาแวร์และไปถึงเหนืออ่าวเมกซิโก

อีก2สายพันธุ์คือแมงดาถ้วยและแมงดาจาน อาศัยอยู่ตามชายฝั่งของเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยด้วย

ผมค้นคว้าไล่อ่านงานบทความของฝรั่งมาสองอาทิตย์ ยังไม่พบว่าแมงดาทะเลของฝั่งเอเชียถูกพูดถึง ว่าเคยใช้ในการทดสอบความบริสุทธิ์ของวัคซีนกันหรือยัง

แต่บอกเพียงว่าในเอเชียเหนือ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีแมงดาทะเล และมีกลุ่มคนที่กินแมงดาทะเลหรือกินไข่แมงดาทะเลกันพอสมควร

นับว่าน่าเสียดาย

อาจเป็นเพราะระบบวิจัยทางชีวการแพทย์ของซีกโลกฟากนี้มีน้อยกว่า การค้นคว้าเพื่อรับรองวัคซีนตัวเองของซีกโลกนี้มีน้อยกว่า แม้จะผลิตได้มากกว่า เช่นในอินเดียมีสถาบันเซรุ่มที่ใหญ่ที่สุด กำลังผลิตวัคซีนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ตาม

หรือจะเพราะเลือดแมงดาทะเลสายพันธุ์จากฝั่งแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียสอบตกด้านคุณสมบัติการตรวจจับเชื้อที่เข้าไปเจือปนรุกรานหรืออย่างไร ก็ยังไม่เห็นบทความไหนเอ่ยถึง

แม้ปัจจุบันบริษัทเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จะค้นพบว่ามีสารสังเคราะห์ใหม่ๆที่สามารถตรวจจับการปนเปื้อนในวัคซีนได้อย่างรวดเร็วทันใจก็ตาม และหลายประเทศในยุโรปก็ยอมรับให้ใช้สารสังเคราะห์แทนการใช้เลือดจริงของแมงดาทะเลแล้ว

แต่องค์กรที่จะให้การรับรองวัคซีนของสหรัฐคือUS FDA ก็ยังคงยืนยันว่า จะยังไม่ยอมรับความแน่นอนของสารสังเคราะห์ใดๆที่พยายามเสนอมาแทนเลือดสีฟ้าขุ่นของแมงดาทะเลได้

การจับแมงดาทะเลในสหรัฐจึงยังคงดำเนินต่อไป ปีละราวๆ 5 แสนตัวในปีปกติ และในสถานการณ์โควิด 19 การจับแมงดาทะเลสหรัฐไปเจาะหัวใจเพื่อดูดเลือดออกมาเป็นเวลาราว 20-72 ชั่วโมงจึงถูกตั้งคำถามว่า นี่จะทำให้แมงดาทะเลพันธุ์สหรัฐเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพียงใด

และไม่ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมยาจะตอบว่าได้จับแมงดาทะเลมาดูดเลือดออกไม่มากเกิน 30% ของแต่ละตัว และอ้างว่าแต่ละตัวจะคืนสู่สภาพมีเลือดเต็มตามปกติในสามสัปดาห์ แต่องค์กร IUCN หรือสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติก็ประกาศให้แมงดาทะเลเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อยู่ในบัญชีที่กำลังถูกคุกคาม เพราะเอาเข้าจริงอาจใช้เวลาหลายเดือนหลังถูกเจาะเลือดกว่าจะกลับสู่สภาพปกติของมัน และตัวเมียจะสูญเสียความสามารถในการออกไข่ไปอย่างผิดปกติ

ส่วนในทางชีวจริยศาสตร์ การเจาะเลือดแบบนี้แล้วปล่อยคืนลงทะเลเป็นการทำทารุณกรรมต่อสัตว์ที่สังคมควรโลกยอมรับได้แค่ไหน ก็จะเป็นอีกเรื่อง เพราะมีสถิติว่า 15-30 % ของตัวที่ถูกเจาะเลือดออกไปนั้นจะตายลง

ทุกวันนี้การทดลองสารเคมีและยาต่างๆในหนู ในกระต่าย ในลิงก็กำลังถูกต้านอย่างมาก

เรื่องประโยชน์ของเลือดแมงดาทะเลนี้ ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีสื่อสารมวลชนเขียนเรื่องนี้ออกมาหลายชิ้นแล้ว มีข่าวทีวี มีคลิปทั้งภาษาไทยและต่างประเทศเรื่องเลือดสีฟ้าราคาแพงลิบนี้ออกมาเยอะพอควร เพราะมนุษย์ใช้เลือดแมงดาทะเลมาทำอย่างนี้กึ่งชั่วอายุคนแล้ว คือใช้กันแพร่หลายตั้งแต่1970

ในเว้บขายสินค้าทางออนไลน์ ระหว่างเขียนต้นฉบับนี้ ผมเริ่มสังเกตเห็นมีการขายสบู่เลือดแมงดาทะเล นัยว่าคงมีคุณสมบัติอะไรต่อผิวคนยังงั้นกระมัง

เท่าที่ผมลองแหย่ถามคนที่อยู่ในระดับนโยบายหลายๆกลุ่ม ปรากฏว่าคงยุ่งอยู่กับสารพัดข่าวสารของปีโควิดที่ลากยาวจนบัดนี้ วุ่นไปทุกวงการ ทั้งการเรียน การสอบ การค้าขาย การว่างงาน การควบคุมโรค การควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคม และการจัดการขยะติดเชื้อ

จึงไม่ทันได้รับทราบเรื่องเลือดแมงดาทะเลว่าเกี่ยวอะไรกับ การพิสูจน์วัคซีนว่าบริสุทธิ์หรือไม่อย่างไร

แต่เรื่องแมงดาทะเลนี้อาจกลายเป็นโอกาสครั้งใหญ่ เพราะไม่ใช่ว่าทุกประเทศชายฝั่งในโลกนี้เขาจะมีแมงดาทะเลเสียเมื่อไหร่

แถมในไทยเราก็ดันเอามาเผา มายำกินแกล้มเบียร์กันซะงั้น

ดังนั้น ผมจึงเรียบเรียงเสนอบทความนี้ขึ้นมาเพื่อ

1. ชวนคิดว่าในช่วงที่โลกกำลังค้นหาและพยายามพัฒนาสูตรวัคซีนโควิด19กันอย่างขะมักเขม้นนั้น แมงดาทะเลที่มีในไทยควรมีตัวตนอยู่แถวๆไหนในทางนโยบายสิ่งแวดล้อม ในนโยบายเศรษฐกิจ ในนโยบายวิจัย ในนโยบายประมง ในนโยบายส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งมาตรการในทางกฏหมาย และในทางการพัฒนาวิจัยและการขยายพันธุ์ รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์

2.เพื่อจะชวนคิดออกแบบเรื่องเขตรักษาพันธุ์ การคุ้มครองพันธุ์ การเพาะเลี้ยงแมงดาทะเลในไทยหรือในอาเซียน และ BIMSTEC (ความร่วมมือระหว่างประเทศในรอบอ่าวเบงกอล )ว่าเป็นสิ่งที่ควรคิดอ่านร่วมมือกันได้อย่างไรหรือไม่

3. เพื่อรณรงค์ให้ตลาดท้องถิ่นต่างๆหยุดบริโภคไข่แมงดาทะเล แล้วหันมาคิดว่าพอจะมีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการจับแมงดาทะเลมาเจาะดูดเลือดขายกันอย่างมั่วๆเพียงเพื่อหวังรวยเร็วจนทำให้ล้างผลาญปริมาณแมงดาทะเลในภูมิภาคนี้ไปอย่างไม่เข้าท่า ดีมั้ย

4.เพื่อชี้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งของระบบนิเวศ

ธรรมชาติใส่รหัสการผูกและการแก้สมการไว้ใต้จมูกเราเยอะแยะ เราพบยาสมุนไพรจากพืช เราพบสารที่ใช้แก้ปัญหายากๆจากสิ่งที่เรานึกไม่ถึงเสมอ

นักวิทยาศาสตร์เคยพยายามศึกษาสารในดวงตาจระเข้ กบ เขียด และปลาตีน เพราะสังเกตว่ามันไม่ยักติดเชื้อที่ตา ทั้งที่มันอยู่ในหนองบึงและโคลนเลน มีแบคทีเรียเพียบไปหมด

ถ้างานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเลือดของแมงดาทะเลของไทยชี้ว่าสามารถให้ผลระดับเดียวกับหรือดียิ่งกว่าเลือดแมงดาทะเลของอเมริกา

โควิดครั้งนี้อาจให้โอกาสแก่ไทย แก่อาเซียนและเอเชียใต้ก็ได้ รวมทั้งต่อชีวิตมนุษย์โลกทั้งหลายด้วย

ขอแค่ต้องมี''ความรู้ '' มีความ''เมตตา''ต่อชีวิตอย่างละเอียดอ่อน และความ''ไม่โลภมาก'' ก็คงเป็นจุดเริ่มที่ดีแล้วล่ะครับ

เพราะโรคอุบัติใหม่และการผิดปกติของเซลของเรา จะยังมีเซอร์ไพรส์ใหม่ๆมาให้มนุษย์พบเจออีกไม่มีขาดตอนแน่ๆ 
 
 
-------------------------------------------------------------------------
-------------------------------------------------------------------------