ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

อีก 50 วันเลือกตั้งท้องถิ่น : ประชาชนควรถามอะไรจากผู้เสนอตัว

 

29 กันยายน 2564 คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา 

อีก 50 วันเลือกตั้งท้องถิ่น : ประชาชนควรถามอะไรจากผู้เสนอตัว
ชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีการหย่อนบัตรกันในวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 นี้
หลังจากว่างเว้นกิจกรรมการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับ อบต. มานานโข
การเลือกตั้งเทศบาลก็เพิ่งมีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากอั้นมานานพอกัน
สิ่งที่ใช้ในการหาเสียง อบต. คราวโน้น น่าจะอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ต่างจากรอบนี้มากแน่นอน
เพราะในคราวโน้นคืออย่างน้อย 8 ปีก่อน ราษฎรไม่ได้อยู่ในภาวะที่ต้องเจอกับสภาพโควิด ทั้งทางสุขภาพ และโควิดทางเศรษฐกิจ
สิ่งแวดล้อมของชาวชุมชนเมื่อ 8 ปีก่อนก็ต่างจากวันนี้มาก หนุ่มสาวยังทำงานในเมือง โอกาสมาร่วมลงคะแนนมีน้อย
ส่วนการรับรู้ว่าใครหาเสียงว่าอะไร คราวนี้หนุ่มสาวและเยาวชนจะได้อยู่ในพื้นที่แบบยาวจากต้นจนหย่อนบัตรล่ะ
8 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่เคยได้ยินคำว่าฝุ่น PM2.5 ไม่เคยได้ยินคำว่า PM 10ด้วยซ้ำ
8 ปีที่แล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่กระจายถึงชนบทมากเท่าวันนี้
8 ปีที่แล้ว ขยะมูลฝอยยังไม่มีปัญหามากมายขนาดนี้
8 ปีที่แล้ว การนำเข้าเศษพลาสติกก็ยังไม่เคยเป็นประเด็น
8 ปีที่แล้ว หลายชุมชนไม่เคยเห็นคลองที่กลับมาสวย และน้ำที่กลับมาใส
8 ปีที่แล้ว ไฟป่า ไฟทุ่ง ในโลกนี้ไม่ได้มีปริมาณ ขนาด และความถี่อย่างสองสามปีมานี้
8 ปีที่แล้ว โลกยังเพิ่งพูดๆกันเรื่อง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และผลที่จะทำให้ช่องโอโซนถ่างออกที่ขั้วโลก และห่วงกันว่าน้ำแข็งขั้วโลกอาจละลายเร็วขึ้น แต่วันนี้ ทุ่งน้ำแข็งในกรีนแลนด์หายไปจนเห็นพื้นดิน อากาศที่ออสเตรเลียและแคลิฟอร์เนียร้อนแห้งจนเกิดไฟป่าเผาข้ามเมืองข้ามรัฐแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
8 ปีที่แล้ว ไม่มีใครเคยเห็นน้ำฝนท่วมเมืองใหญ่ของโลกจนน้ำทะลักท่วมเข้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จนทำให้คนที่กำลังโดยสารรถไฟใต้ดินต้องเจอกับสภาพติดคาอุโมงค์รถไฟ น้ำท่วมถึงระดับอก ส่วนขั้นบันไดที่สถานีรถไฟ กลายเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไปอย่างน่ากลัว
8 ปีที่แล้ว คำว่าน้ำแล้งยังไม่กระทบต่อการจัดหาน้ำเข้าไปส่งโรงพยาบาลแต่สองปีนี้มีปัญหาถึงขนาดต้องขนส่งน้ำใส่ขวดข้ามจังหวัดไปป้อนโรงพยาบาลระดับจังหวัดที่อีสาน
8 ปีที่แล้ว เรายังไม่เคยมีปัญหาหน้ากากอนามัยทิ้งขว้างปลิวหลุดตามลมมาตามถนนและคลอง ยังไม่มีผ้าอ้อมผู้สูงอายุลอยมาตามทางน้ำ ยังไม่มีเตาเผาศพแตกเพราะเผาไม่หยุดเพราะวัดอื่นๆ งดรับศพที่ป่วยโควิดเสียชีวิต
8 ปีที่แล้ว เรือไฟฟ้าเป็นแค่ข่าวเท่ๆในต่างประเทศ แต่วันนี้ในไทยมีเรือไฟฟ้าเริ่มให้บริการในบางพื้นที่ของกรุงเทพบ้าง กระบี่บ้าง
8 ปีที่แล้ว คนยังถามว่าอีโค่คาร์จะมาแทนที่รถทั่วๆ ไปหรือเปล่า แล้วรถเติมก๊าซหุงต้มจะทำไปได้นานแค่ไหน แต่วันนี้ คนเห็นรถไฟฟ้าและจุดจอดรถเพื่อเสียบปลั้กตามห้างสรรพสินค้าแล้ว
8 ปีที่แล้ว รถไฟดีเซลแล่นระหว่างจังหวัดยังต้องใช้แต่รางทางเดี่ยว รอสับหลีก แต่วันนี้ ไม่เพียงแต่มีทางคู่หรือแผนชัดเจนแล้วว่าสถานีใหม่จะมีที่ไหน และทางคู่จะวางรางไปถึงเมืองชายแดนใดที่ยังไม่เคยเห็นรถไฟอีกบ้าง
8 ปีที่แล้ว เราฝันว่ารถไฟไฟฟ้า คงใช้เวลาอีกสักชาตินึงจึงจะเห็นถึง 10 สี 10 สายทางในกรุงเทพ
แต่วันนี้ แม้แต่ต่างจังหวัดหลายแห่งก็กำลังเตรียมรับการมาถึงของรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยซ้ำ
8 ปีที่แล้ว คำว่ารถไฟระหว่างประเทศ คือได้เห็นการเชื่อมรางข้ามแม่น้ำโขงที่หนองคายช่วงสั้นๆ และที่แล่นไปก็แค่ข้ามสะพานไปหน่อยเดียวแต่ก็ไม่ถึงตัวนครเวียงจันท์ แต่วันนี้หลังหย่อนบัตรเลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จเพียง 4 คืน รถไฟไฟฟ้าความเร็วสูงจะแล่นขนส่งทั้งคนและสินค้าจากเวียงจันท์หลับสบายยาวๆ ไปถึงคุนหมิง โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถ แถมตั๋วราคาถูกหลักร้อยไม่ใช่หลักหมื่น
8 ปีที่แล้ว แผนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าสารพัดพลังงานยังเป็นแค่โปรเจ็คขายความฝันว่าจะทันสมัย วันนี้กังหันไฟฟ้า ทุ่งโซลาร์เซลล์ แผงโซลาร์เซลล์บนอาคาร และลอยแผ่เต็มผิวน้ำเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้ามีให้เห็นดาดดื่น
8 ปีที่แล้ว เต่าทะเลตัวโตๆ พะยูนเป็นฝูง ฉลามวาฬ และโลมา ตลอดจนวาฬใหญ่ๆเป็นของหาดูยาก แต่ด้วยการมาของโควิดได้ทำให้เรารู้ว่า เมื่อคนมีกิจกรรมทางทะเลเบาบางลง สัตว์หายากก็มาปรากฏตัวกันเป็นฝูง และเข้ามาใกล้จนเรามีภาพถ่ายตึกสูงของกรุงเทพอยู่ในเฟรมเดียวกับหางขนาดยักษ์ของวาฬได้อย่างที่เรียกว่า เป็นประจำ
8 ปีที่แล้ว หนุ่มสาวกลับต่างจังหวัดกันในช่วงปิดเทอมหรือไปเที่ยวเทศกาล คนโรงงานกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ตอนวันหยุดยาว แต่บัดนี้ รถที่พาเขาไปขนทั้งตู้เย็น ตู้ซักผ้า และตู้กับข้าวไปด้วยเพราะเขาไม่เหลืองานที่จะทำในเมืองใหญ่เสียแล้ว
ที่จริงคงเล่าต่อได้อีกยาว แต่สรุปง่ายๆก็คือ บริบทเปลี่ยนไปแล้ว
บ้านเมืองและท้องถิ่นก็ไม่ได้เป็นไปอย่างเคยๆ อีกแล้ว
การทำงานที่เราจะพึงคาดหวังจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงย่อมต่างไปจาก ครั้งโน้นเยอะมาก
คำถามที่เราผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะถามผู้มาเสนอตัว เสนอทีมลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่นหนนี้จึงย่อมต่างไปแล้วด้วยเช่นกัน
เขาเหล่านี้จะต้องอยู่กับเรา ใกล้บ้านเรา ใกล้แหล่งทำกินเราไปอีก นาน
จะอยู่นานกว่าทั้ง สส. และ สว.ที่ท่านยังเห็นในวันนี้ด้วยแน่ๆ
เขาจึงต้องตอบคำถามท้าทายให้ได้ว่าด้วยงบท้องถิ่นของแต่ละอบต.นั้นมีจำกัดยิ่ง แถมหมดไปกับค่าตอบแทนบุคลากรเกือบครึ่งแล้ว
เขาจะทำอย่างไรกับปัญหาของปัจจุบัน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าเก่าๆ ของอดีตที่ก็ยังแก้ปัญหากันไม่จบ
เขาจะต้องสามารถบอกได้ว่าอนาคตของท้องถิ่นแต่ละที่ที่เขากำลังเสนอตัวลงเลือกตั้ง จะเชื่อมกับระบบใหม่ๆ ของภาค ของชาติ ของภูมิภาคและของโลกได้ยังไง
เพราะอบต.สมัยเก่าเชื่อมโลกด้วยถนนและสายโทรศัพท์อย่างเดียวเท่านั้น
แต่วันนี้เชื่อมด้วยข้อมูลออนไลน์ ด้วยดาวเทียม ด้วยมีทางมอเตอร์เวย์ใหม่มาผ่าน เชื่อมด้วยบายพาส เชื่อมด้วยอะไรอีกหลากหลาย
หมดยุคที่จะไม่พูดเรื่องขยะ หมดสมัยที่จะไม่แตะเรื่องสิ่งแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งแย่ลงจนได้ชื่อใหม่ว่าภาวะภูมิอากาศป่วน หรือ Climate Crisis ไม่ใช่แค่ Climate Change กันแล้ว
หมดยุคที่จะพูดแค่เรียนฟรีมีกระเป๋าและชุดนักเรียนแจกเพราะวันนี้ ความรู้ไม่ได้อยู่ในกระเป๋านักเรียนแล้ว
หมดยุคที่จะพูดถึงผู้สูงวัยมาใช้ประโยชน์จากศูนย์ผู้สูงวัยเพราะโควิดบังคับให้ต้องเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากสองชั้นเข้าตลาด และใส่หน้ากากนั่งอยู่ในบ้าน งดการร่วมนั่งทานเป็นสำรับรวมเท่าที่จะทำได้
หมดยุคที่จะเอาแค่ไปร่วมงานบวช งานแต่ง และงานศพเพื่อเป็นการใกล้ชิดประชาชนเพราะต้องจำกัดจำนวนคนเข้าร่วม
เป็นยุคที่ต้องปลุกใช้พลังสร้างสรรค์ของหนุ่มสาวที่กลับบ้านถาวร นักเรียนที่กำลังเครียดกับออนไลน์
เป็นยุคที่บ่อฝังกลบไม่เพียงแต่พูนล้น แต่จะต้องตอบว่ามาเฟียขยะในพื้นที่ทำไมจึงไม่ปล่อยให้ขยะไปถึงโรงไฟฟ้าขยะ
เป็นยุคที่กฏหมายเรื่องคนอยู่กับป่าเริ่มมีผลบังคับใช้ แต่ควรให้เกิดโครงการระดับชุมชนที่จะอยู่กับและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนได้อย่างไร?
ใครที่ท่านจะต้องชวนกันลดเผา และปลูกต้นไม้เพิ่ม?
ช้างป่า ลิงป่า และตัวเงินตัวทอง งูตลอดจนสัตว์เลื้อยคลานมีปริมาณมากขึ้นและขาดแหล่งน้ำในป่าจึงออกมาหากินเอากับเมือง ท่านจะทำอย่างไร?
ท่อระบายตัน ตื้นเขิน เต็มไปด้วยคราบของไขมันจนอุดตัน การขุดลอกด้วยแรงงานทำยังไงก็ไม่ทัน ท่านจะใช้จุลินทรีย์พันธุ์อะไร และหุ่นยนต์มุดท่อของใครสร้างจึงจะทำงานในสภาพที่ขาดออกซิเจน น้ำเป็นกรดสูง และมีอุณหภูมิสูงได้อย่างไร?
คลองจะสวย น้ำจะใส ไม่ท่วมและไม่แห้งผากในเขตพื้นที่ท่านยังไง?
ผักตบชวาและสัตว์น้ำสายพันธุ์รุกรานข้ามถิ่นที่ลุยเข้ามากินสัตว์น้ำในลุ่มน้ำของท่านจะมีทางจัดการไหม?
บ่อบำบัดน้ำทิ้ง ขนาดชุมชน โรงคัดแยกขยะระดับท้องถิ่น จะมีขึ้นได้อย่างไร จะมีไว้แก้ปัญหาหรือจะกลายเป็นปัญหาเสียเองไหม จะดึงเอกชนมาช่วยได้อย่างไร?
ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่พึงมีคืออะไร และที่พึงยกเลิกเสียมีไหม?
น้ำลอบทิ้งของอุตสาหกรรม ท่านจะสกัดได้ด้วยวิธีไหนอีกบ้าง?
สุสานบ่อขยะเก่าจะถูกล้างป่าช้าด้วยวิธีอะไร?
อินเทอร์เน็ตชุมชนจะเพียงพอกับคนแต่ละกลุ่มที่ต้องพึ่งพาสัญญาณให้เสถียรพอๆ กับกำลังไฟฟ้าจะมาได้ยังไง?
ศูนย์บริหารและบริการสำหรับสนับสนุน Smart Farmers ท่านคิดถึงหรือเปล่า?
น้ำดื่มสะอาดที่ได้มาตรฐานจะต้องมาอย่างไร?
งานทะเบียนออนไลน์จะใช้ได้ครบเมื่อไหร่?
ที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่ตกสำรวจจะหาเจอให้ครบได้อย่างไรและจะใช้มันอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์จริงจัง แบ่งไปให้ยืมปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชอาหารช้างที่กำลังตกงานได้แค่ไหน?
ไม้ยืนต้นที่จะเกิดตามโครงการไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่กับป่า ท่านจะชวนให้ทำกันอย่างไร?
ภัยธรรมชาติจะมาแรงขึ้น ท่านบริหารความเสี่ยงทันไหม?
ทางลาด ราวจับสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่นับวันจะมีมากขึ้น มีอายุยาวขึ้น ออกทำงานมากขึ้น ออกเดินทางบ่อยขึ้น ท่านจะปรับปรุงทางเท้า ยังไงไม่ให้ต้องลงไปเสี่ยงตายบนผิวถนน
ป่าชายหาดกับป่าชายเลนต่างกันยังไงและให้คุณค่าแก่การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้ ท่านต้องการอะไรเพื่อรักษามันไว้?
ทางรถไฟ และถนนมาใหม่ได้กลายเป็นกำแพงขวางทางน้ำไหลในเขตของท่านหรือเปล่า และในพื้นที่ข้างเคียงหากน้ำไหลไม่ได้แล้วจะเอ่อมาหาท่านไหม?
หลอดดูดพลาสติกจะหยุดผลิตแล้ว ถุงพลาสติกชนิดบางที่ขาดง่ายจะกลายเป็นของต้องห้ามในไม่ช้า
ท่านจะใช้วัสดุท้องถิ่นประเภทไหนที่ตลาดสดของท่าน?
เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ใหม่ที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องเตรียมตอบให้ทันกับการนำเสนอของคู่แข่งขันทั้งสิ้น
ขออย่าให้ใช้เงินหว่านในการหาเสียงแล้วกัน โดยเฉพาะในช่วงที่ราษฏรกำลังตกยากจากโควิดปิดหน้าต่างเศรษฐกิจไปหลายบานเหลือเกิน
แต่จะให้ดีที่สุด
ถ้าประชาชนได้ตั้งคำถามเหล่านี้เอง ดังๆ แบบถามทั้งทีม ถามทุกฝ่าย
ถามทุกทีม ถามทุกที่ และถามร่วมกันบ่อยๆ
ทุกท้องถิ่นได้เริ่มใหม่ด้วยประชาธิปไตยจากการตั้งโจทย์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขอเชียร์ให้สื่อต่างๆทั้งที่เป็นสื่อมวลชนอาชีพ และสื่อโซเชียลภาคประชาชน ตั้งเวทีถามหาคำตอบให้ดังกระหึ่มในทุกท้องที่ท้องถิ่นทั่วไทย
นาทีทองของการปฏิรูปประเทศไทยจากฐานรากมาถึงแล้ว
นาทีทองของการเอาประเด็นการพัฒนาสีเขียว การพัฒนาและอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาถึงแล้ว
 

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat

 

 ---------------------------------------------